2012 ©
             ข้อมูลการเผยแพร่ผลงาน
การเผยแพร่ในรูปของบทความวารสารทางวิชาการ
ชื่อบทความ ปัจจัยที่มีผลต่อการปฏิบัติงานโรงพยบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 
วัน/เดือน/ปี ที่ได้ตอบรับ 23 กันยายน 2563 
วารสาร
     ชื่อวารสาร วารสารสังคมศาสตร์เพื่อการพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม  
     มาตรฐานของวารสาร TCI 
     หน่วยงานเจ้าของวารสาร มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม 
     ISBN/ISSN
     ปีที่
     ฉบับที่
     เดือน กรกฎาคม-กันยายน
     ปี พ.ศ. ที่พิมพ์ 2563 
     หน้า
     บทคัดย่อ บทคัดย่อ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเป็นกลไกสำคัญที่จะผลักดันสัมฤทธิผลของการปฏิบัติงานบริการด้านสุขภาพที่มีคุณภาพและมีคุณค่าได้ ทั้งการป้องกัน การส่งเสริม และการฟื้นฟูสุขภาพที่สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้ รวมทั้งลดค่าใช้จ่าย ลดความลำบาก โดยเฉพาะลดการไปใช้โรงพยาบาลประจำอำเภอ/โรงพยาบาลประจำจังหวัด นั่นคือตอบโจทย์กระทรวงสาธารณสุขได้ แต่จากการประเมินผลการปฏิบัติงาน รพ.สต.5 ดาว 5 ดี พบว่า เขตสุขภาพที่ 8 แม้จะมีค่าเฉลี่ยสูงกว่าทั้งประเทศแต่ก็ยังมีค่าเฉลี่ยไม่ถึงร้อยละ 50 ผู้วิจัยจึงคิดว่าการปรับองค์กรเพื่อเพิ่มสัมฤทธิผลการปฏิบัติงานบริการให้สูงขึ้นนั้นจะต้องปรับแก้ให้ตรงจุดคือ ต้องหาสาเหตุที่มีต่อสัมฤทธิผลการปฏิบัติงานบริการ ซึ่งจะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายซึ่งผลักดันให้คนไทยมีสุขภาพดีถ้วนหน้าได้ ด้วยตรรกะดังกล่าวผู้วิจัยจึงศึกษาเรื่อง “ ปัจจัยที่มีผลต่อสัมฤทธิผลการปฏิบัติงานที่มีคุณภาพและมีคุณค่าต่อชุมชนของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เขตสุขภาพที่ 8” มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา (1) ลักษณะปัจจัยบริการในการปฏิบัติงานของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเขตสุขภาพที่ 8 (2 ) ลักษณะสัมฤทธิผลการปฏิบัติงานที่มีคุณภาพและมีคุณค่าต่อชุมชน (3) วิเคราะห์ปัจจัยบริการที่มีอิทธิพลต่อสัมฤทธิผลการปฏิบัติงานที่มีคุณภาพและมีคุณค่าต่อชุมชน และ(4) แนวทางพัฒนาปัจจัยบริการเพื่อเพิ่มสัมฤทธิผลการปฏิบัติงานที่มีคุณภาพและมีคุณค่าต่อ ชุมชน ภายใต้แนวคิดหลักคือ (1) แนวคิดการบริหารและบริการสาธารณสุข (Public Health Administration) (2) แนวคิดสัมฤทธิผลการปฏิบัติงาน และ(3) แนวคิด และทฤษฏีองค์การ (Organization Theory) โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยแบบผสานวิธี (Mix Methodology) เริ่มด้วยวิธีเชิงปริมาณ เครื่องมือที่ใช้รวบรวมข้อมูลเชิงปริมาณได้แก่แบบสอบถาม ( Questionnaires) กลุ่มตัวอย่างได้แก่ผู้มารับบริการจาก รพ.สต. 6 แห่ง ในเขตสุขภาพที่ 8 จำนวน 315 คน ใช้วิธีการสุ่มแบบบังเอิญและคำนวณ ขนาดตัวอย่างโดยวิธี ของ Alabama Richard G. Lomax ( 2010: 42) ใช้สถิติเชิงพรรณนา เพื่อบรรยายลักษณะข้อมูล และใช้การวิเคราะห์ถดถอยพหุคูณ ( Multiple regression Stepwise Method) เพื่อวิเคราะห์อิทธิพลของตัวแปรพยากรณ์ และการทดสอบสมมุติฐาน จากนั้นใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ เพื่ออธิบายประเด็นสำคัญที่ได้จากผลการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ เครื่องมือเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพได้แก่ แบบสัมภาษณ์กึ่งโครงสร้าง (Semi-Structural Interview ) ด้วยวิธีการสัมภาษณ์เชิงลึก (Indept-interview ) โดยเจาะจงผู้ให้ข้อมูลสำคัญ รวมทั้งหมด 12 ราย วิเคราะห์ สังเคราะห์ ข้อมูลด้วยการวิเคราะห์เนื้อหา ผลการศึกษาพบว่า 1. ลักษณะปัจจัยในการปฏิบัติงานของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เขตสุขภาพที่ 8 ภาพรวมพบว่า มีผลต่อสัมฤทธิผลการปฏิบัติงานระดับปานกลาง ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.50 หากพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ปัจจัยที่มีผลระดับมากได้แก่ (1) ด้านภาวะสุขภาพ และด้านการปฏิบัติงานตามภารกิจหลัก ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.64 อันดับที่ (2) ด้านเศรษฐกิจ- สังคม ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.57 อันดับที่ (3) ด้านทักษะเจ้าหน้าที่ และด้านการรับรู้คุณภาพการบริการค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.54 นอกจากนี้ผลการศึกษาเชิงคุณภาพทำให้ทราบว่า ผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมกับชุมชนแสดงถึงผู้ที่มีสุขภาพกาย ใจดี หากคนในชุมชนมีสุขภาพที่แข็งแรง ไม่เจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรง ย่อมไม่สร้างภาระงานด้านการรักษาแก่ รพ.สต.ทำให้สามารถปฏิบัติงานด้านอื่นได้มากขึ้นเช่น การออกเยี่ยมผู้ป่วยที่บ้าน ดังนั้น ด้านภาวะสุขภาพ ในประเด็นความสุขที่มีในการใช้ชีวิตประจำวันและความสามารถในการเข้าร่วมกิจกรรมกับทางชุมชน สภาพความสมบูรณ์ ความแข็งแรงของร่างกาย และความรู้สึกภาคภูมิในตนเอง ถือได้ว่าเป็นปัจจัยที่มีผลต่อสัมฤทธิผลการปฏิบัติงานที่มีคุณภาพและมีคุณค่าของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 2. ลักษณะสัมฤทธิผลการปฏิบัติงานที่มีคุณภาพและมีคุณค่าต่อชุมชนของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ผลการวัดสัมฤทธิผลการปฏิบัติงานที่มีคุณภาพของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล พบว่า สัมฤทธิผลการปฏิบัติงานอยู่ในระดับมาก อยู่ในระดับมีผลมาก (x ̅ = 3.69) พิจารณาเป็นรายด้านโดยเรียงลำดับค่าเฉลี่ยจากมากไปหาน้อย 3 อันดับ ดังนี้ อันดับแรก ได้แก่ ด้านหลักการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม (x ̅ = 3.77) รองลงมาด้านหลักคุณธรรมการทำงาน (x ̅ = 3.69) และอันดับสุดท้าย คือ ด้านหลักการให้บริการอย่างทั่วถึง (x ̅ = 3.65) ส่วนลักษณะสัมฤทธิผลระดับปานกลาง ได้แก่ ด้านการมีส่วนร่วมของเจ้าหน้าที่ และหลักการให้บริการสาธารณะ รองลงมาได้แก่ ด้านเทคโนโลยีการแพทย์ และลำดับสุดท้ายคือด้านการจัดการองค์กร 3. ปัจจัยที่มีผลต่อสัมฤทธิผลการปฏิบัติงานที่มีคุณภาพและมีคุณค่า มี 7 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านพฤติกรรมการใช้บริการสุขภาพ 2) ด้านการรับรู้คุณภาพการบริการ 3) ด้านจิตวิทยาสังคม 4) ด้านการจัดการองค์กร 5) ด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ 6) ด้านการปฏิบัติงานตามภาระกิจหลัก และ 7) ด้านเศรษฐกิจ- สังคม โดยปัจจัยดังกล่าวร่วมพยากรณ์สัมฤทธิผลการปฏิบัติงานที่มีคุณภาพและมีคุณค่าของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลได้ร้อยละ 84.4 ( R2 = 0.844) ปัจจัยทั้งหมดมีความสัมพันธ์ระดับสูงเชิงบวกกับสัมฤทธิผลการปฏิบัติงานที่มีคุณภาพและมีคุณค่าของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล นอกจากนี้ข้อมูลเชิงคุณภาพยังยืนยันว่า พฤติกรรมการใช้บริการสถานสุขภาพของประชาชนนั้น เข้าใช้บริการสถานบริการที่มีแพทย์ พยาบาล หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขประจำอยู่ เนื่องจากเชื่อมั่นในการรักษาของแพทย์แผนปัจจุบัน และประชาชนสามารถรับรู้คุณภาพการบริการของสถานบริการสุขภาพนั้นได้ 4. แนวทางการพัฒนาเพื่อเพิ่มระดับสัมฤทธิผลการปฏิบัติงานของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลให้สูงขึ้นจากผลการวิเคราะห์เชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ มีดังนี้ (1) พัฒนาด้านความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจในผู้รับบริการและการพัฒนาด้านหลักความพึงพอใจ ซึ่งเป็นความต้องการพัฒนาที่มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุดอยู่ที่ 3.73 นอกจากนี้ข้อมูลเชิงคุณภาพสนับสนุนการพัฒนาด้วยเหตุผลว่าผู้ให้บริการสุขภาพควรความเข้าใจและเห็นใจผู้เข้ารับบริการให้มากขึ้นเพราะว่าผู้รับบริการที่มีความเจ็บป่วยมีความวิตกกังวลอาการตนเองอยู่แล้วและต้องการความเข้าใจในอาการตนเองเพื่อคลายความวิตกกังวล (2) การพัฒนาด้านการตอบสนองต่อผู้รับบริการ ค่าเฉลี่ยความต้องการพัฒนาด้านนี้อยู่ที่ 3.70 โดยเฉพาะด้านการทักทายและการต้อนรับจากผู้ให้บริการ การสื่อสารกับหน่วยงานอื่น เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว การใช้เครื่องมือสื่อสารที่ทันสมัย และระบบการจัดคิวเข้ารับการรักษา ที่เป็นมาตรฐานเมื่อมีผู้มารับบริการพร้อมกันจำนวนมากไม่ต้องให้เจ้าหน้าที่ รพ.สต. จัดคิวตามลำดับก่อน-หลัง และ (3) การพัฒนาหลักคุณธรรมการทำงานและความสอดคล้องต่อการตอบสนอง ค่าความต้องการพัฒนาเฉลี่ยอยู่ที่ 3.66 และ 3.65 ตามลำดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านมาตรฐานการดูแลสุขภาพและการรักษาควรรักษามาตรฐานการดูแลสุภาพของประชาชน ตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข และการนำเทคโนโลยีใหม่มาปรับใช้ในการให้ความรู้แก่ประชาชน เพื่อสร้างการรับรู้ด้านสุขภาพให้เพิ่มมากขึ้น  
     คำสำคัญ ปัจจัยที่ส่งผลต่อสัมฤทธิผลการปฏิบัติงาน , โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 
ผู้เขียน
607080014-5 นาง จินตนา กำแพงศิริชัย [ผู้เขียนหลัก]
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ปริญญาเอก ภาคปกติ

การประเมินบทความ มีผู้ประเมินอิสระ 
สถานภาพการเผยแพร่ ได้รับการตอบรับให้ตีพิมพ์ 
วารสารมีการเผยแพร่ในระดับ ชาติ 
citation มี 
เป็นส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ เป็น 
แนบไฟล์
Citation 0