Abstract |
ด้วยปัจจุบันความต้องการไก่ KKU1 ในตลาดมีมากกว่า 10 เท่าของปริมาณการผลิต ซึ่งหนึ่งในข้อจำกัดของการผลิตได้แก่การนำเข้าไก่พ่อพันธุ์(PS broiler) จากต่างประเทศ การพัฒนาไก่สายพ่อพันธุ์เองจึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจและจะส่งผลในด้านความยั่งยืน ดังนั้นวัตถุประสงค์ของงานวิจัยครั้งนี้เพื่อเปรียบเทียบสมรรถภาพการเจริญเติบโตของไก่ KKU1 ซึ่งเกิดจากคู่ผสมที่ต่างกัน ได้แก่ คู่ผสมที่ 1 เกิดจากการผสมระหว่างพ่อพันธุ์ PS broiler กับ แม่พันธุ์ไข่มุกอีสาน1 (PS × KM1) และคู่ผสมที่ 2 เกิดจากพ่อพันธุ์ไข่มุกอีสาน2 ซึ่งเป็นพ่อพันธุ์ใหม่ กับแม่พันธุ์ไข่มุกอีสาน1 (KM2 × KM1) ผลการศึกษา พบว่าค่าเฉลี่ยน้ำหนักแรกเกิด ของไก่ KKU1 ที่เกิดจากทั้ง 2 คู่ผสม ไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติ (P > 0.05) ในขณะที่ค่าเฉลี่ยน้ำหนักตัวเมื่ออายุ 2, 4 และ 6 สัปดาห์ รวมถึง ความกว้างอก และความยาวรอบอก ที่อายุ 6 สัปดาห์แบบคละเพศ มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญยิ่งทางสถิติ (P < 0.01) โดยไก่ KKU1(PS × KM1) มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 219.99 ± 29.17, 669.86 ± 75.53, 1333.48 ± 132.38 กรัม, 6.91 ± 0.55 และ 26.17 ± 1.74เซนติเมตร ตามลำดับ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของไก่KKU1 (KM2 × KM1) ทุกช่วงอายุโดยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 175.01 ± 30.32, 472.00 ±107.80, 884.36 ± 176.31 กรัม, 5.65 ± 0.52 และ 21.21 ± 1.73 เซนติเมตร ตามลำดับ และผลการศึกษาแตกต่างอย่างชัดเจนมากขึ้นเมื่อแสดงผลแบบแยกเพศ นอกจากนี้ผลของอัตราการเปลี่ยนอาหารเป็นน้ำหนักตัว (FCR) ที่ช่วงอายุ 0 - 6 สัปดาห์ ของไก่ KKU1(PS × KM1) มีค่าต่ำกว่าไก่KKU1 (KM2 × KM1) เช่นกัน ดังนั้นการพัฒนาพ่อพันธุ์ไข่มุขอีสาน2 สำหรับใช้ทดแทนพ่อพันธุ์ไก่ทางการค้ายังจำเป็นต้องดำเนินการพัฒนาต่อเนื่องต่อไป โดยอาศัยองค์ความรู้ด้านพันธุศาสตร์ปริมาณ ร่วมกับพันธุศาสตร์โมเลกุลเพื่อยกระดับศักยภาพทางพันธุกรรมให้ใกล้เคียงกับพ่อพันธุ์ไก่ทางการค้าให้มากกว่านี้ |