2012 ©
             ข้อมูลการเผยแพร่ผลงาน
การเผยแพร่ในรูปของบทความวารสารทางวิชาการ
ชื่อบทความ ภาพสะท้อนในการเปลี่ยนแปลงของพัฒนาการกองดุริยางค์ทหารอากาศไทย 
วัน/เดือน/ปี ที่ได้ตอบรับ 9 มกราคม 2561 
วารสาร
     ชื่อวารสาร วารสารศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 
     มาตรฐานของวารสาร TCI 
     หน่วยงานเจ้าของวารสาร คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 
     ISBN/ISSN 19066023 
     ปีที่ 10 
     ฉบับที่
     เดือน กรกฎาคม - ธันวาคม 2561
     ปี พ.ศ. ที่พิมพ์ 2561 
     หน้า  
     บทคัดย่อ ภาพสะท้อนในการเปลี่ยนแปลงของพัฒนาการกองดุริยางค์ทหารอากาศไทย A Reflection of Thai Royal Air Force Band Development Adapted. อัศวิน นาดี Asawin Nadee นักศึกษาระดับปรัชญาดุษฎีบัณฑิต ศิลปกรรมศาสตร์ สาขาดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น บทคัดย่อ การศึกษาภาพสะท้อนในการเปลี่ยนแปลงของพัฒนาการกองดุริยางค์ทหารอากาศไทยนั้น ผู้วิจัยมีวัตถุประสงค์ในการศึกษา 2 ประเด็น คือ 1) เพื่อศึกษาภาพสะท้อนในการเปลี่ยนแปลงของพัฒนาการดุริยางค์ทหารอากาศไทย 2) เพื่อศึกษาวงดนตรีตะวันตกและบทเพลงสำคัญในกองดุริยางค์ทหารอากาศไทย พบว่า ในปี พ.ศ.2480 ก่อเกิด กองทัพอากาศ การปรับปรุงโครงสร้างในครั้งนั้น พบ การจัดตั้งหมวดแตรวง ประจำหน่วย ต่อมารัฐบาลต้องการสื่อสารกับประชาชนจึงก่อตั้งกองภาพยนตร์กองแตรวงทหารอากาศ ในครั้งนั้นมีพระเจนดุริยางค์เป็นผู้เชี่ยวชาญเข้ามาทำการสอนดนตรี มีวงดนตรีในกองดุริยางค์ 3 วง ได้แก่ 1) วงโยธวาทิต 2) วงหัสดนตรี 3) วงจุลดุริยางค์ รูปแบบของดนตรี แบ่งเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่ 1) วงดนตรีที่ใช้ในการแห่นำขบวน 2) วงดนตรีที่นั่งบรรเลง บทบาทหน้าที่วงดนตรี แบ่งเป็น 3 ด้านได้แก่ 1) การบรรเลงเพลงเพื่อประกอบพิธีกรรมทางทหาร 2) การบรรเลงเพลงเพื่อกิจของพระราชพิธี 3) การบรรเลงเพลงเพื่อความบันเทิง บทเพลงที่ศึกษา คือ เพลงชาติไทย ด้วยเทคนิคการประพันธ์จากพระเจนดุริยางค์ พบเทคนิคที่โดดเด่นคือการใช้เครื่องหมายดังเบาเพื่อสร้างสีสันทางทำนองให้เด่นด้วยหลักการคิดแนวทางดนตรีคลาสสิค ซึ่งไม่พบมากนักในเพลงปลุกใจ คำสำคัญ : กองดุริยางค์ทหารอากาศ, ประวัติศาสตร์ดนตรี, เพลงชาติ Abstracts A reflection study on the changes in the development of Thai Royal Air Force Band The researcher has two objectives: 1) to study the changes in the development of the Thai Royal Air Force Band. 2) To study the Western band and the major songs of the Thai Royal Air Force Band. In 1937, The air force was formed. Later, the government wanted to communicate with the people. At that time, there was a music teacher Peter Feit to teach music. There are 3 bands in the orchestra: 1) Military Band 2) Big Band 3) Orchestra The style of music is divided into 2 types: 1) The band used to parade. 2) Band playing the band. The role of the band is divided into 3 aspects: 1) music for military ritual; 2) royal music; 3) music for entertainment; The study song is Thai national anthem by the composer from the Peter Fite. The distinctive technique is the use of Dynamic Sig to create a melody to emphasize the concept of classical music. Which is not very much in the music aroused. Keywords: Royal Thai Air Force, music history, national anthem บทนำ การดนตรีตะวันตกในประเทศไทยเริ่มต้นมาแต่ครั้งเมื่อมีการติดต่อค้าขายจากชาวต่างชาติ ในสมัยสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชการที่ 4 ได้ทรงอุปถัมภ์แตรวงทหารไว้ในพระราชวังในกองกำลังทหารเกณฑ์หัดอย่างยุโรป ทั้งนี้ด้วยพระราชประสงค์สองประการได้แก่ ประการที่หนึ่ง พัฒนากิจการทหารให้มีความเจริญทันสมัยเฉกเช่นนานาอารยะประเทศ ด้วยเหตุการณ์สำคัญพิธีการแห่พระราชสาสน์สร้างความสนใจในสังคมสยาม(ณัฐชยา นัจนาวากุล, 2559: 59) ประการที่สอง กิจการดนตรีตะวันตกเป็นเครื่องมือที่สร้างความพร้อมเพรียงในพิธีกรรมถวายความเคารพแด่พระมหากษัตริย์ (Saluting) ในการรับส่งเสด็จ ซึ่งบรรเลงแตรวงจากกองทหารเกียรติยศ การก่อเกิดกองดุริยางค์ทหารอากาศ เปรียบเสมือนยุคใหม่ในกิจการทหาร ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองกรมอากาศยาน ได้แปรสภาพเป็น กองทัพอากาศ ในครั้งนั้น กองดุริยางค์ทหารอากาศได้ก่อกำเนิดจากแนวคิดเพื่อสร้างจังหวะในการปฏิบัติภาระกิจให้มีความพร้อมเพรียงในหมู่คณะ กระทั้งคณะรัฐบาลในยุคหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองมีความคิดใหม่ในการสร้างวงดนตรีเพื่อการสื่อกับประชาชนด้วยความหวังในการสร้างความเชื่อมั่นการสร้างทัศนคติอันดี จึงจัดตั้งกองภาพยนตร์กองแตรวงทหารอากาศ เพื่อใช้เป็นสื่อ กิจการนี้มีความต่อเนื่องในการสร้างสรรค์งานศิลปะสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐบาล ส่งผลให้มีความเจริญก้าวหน้าเรื่อยมา ด้วยวงดนตรีที่ประกอบด้วย 1) วงโยธวาทิต 2) วงหัสดนตรี 3) วงจุลดุริยางค์ (กองดุริยางค์ทหารอากาศ, 2539: 32) จากกิจของทหารมาให้ความสำคัญกับกิจการประชาชนมากขึ้น ส่งผลให้ก่อเกิดเป็นภาพสะท้อนที่ดีต่อทหาร บทเพลงปลุกใจ คือ กุศโลบายในการสร้างความสามัคคีของคนในชาติ เพลงชาติไทย มีความเหมาะสมในการศึกษาด้วยเทคนิคการประพันธ์ที่ยอดเยี่ยมจากพระเจนดุริยางค์ จากความสำคัญและที่มาดังกล่าวผู้วิจัยจึงได้ทำการศึกษา โดยใช้ “ชื่อภาพสะท้อนในการเปลี่ยนแปลงของพัฒนาการกองดุริยางค์ทหารอากาศไทย” วัตถุประสงค์ 1. เพื่อศึกษาภาพสะท้อนในการเปลี่ยนแปลงของพัฒนาการดุริยางค์ทหารอากาศ 2. เพื่อศึกษาวงดนตรีตะวันตกและบทเพลงสำคัญในกองดุริยางค์ทหารอากาศ นิยามศัพท์เฉพาะ 1. ภาพสะท้อนทาง หมายถึง พฤติกรรมที่บุคคลหมู่มากแสดงออกมาเมื่อต่อสิ่งที่ส่งผลให้ประสบและพบเห็น 2. ดุริยางค์ทหาร หมายถึง หน่วยงานดนตรี ของทหาร 3. พัฒนาการของกองดุริยางค์ หมายถึง การเปลี่ยนแปลงที่มีผลต่อกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมกับ กองดุริยางค์ทหาร ขอบเขตการวิจัย ในการศึกษาครั้งนี้ ผู้วิจัยแบ่งประเด็นด้านขอบเขตเป็น 5 ประเด็นได้แก่ 1. ขอบเขตด้านเนื้อหา 1.1 โดยศึกษาหน่วยงานกองดุริยางค์โครงสร้างกำลังพลรายนามผู้บังคับบัญชา 1.2 พัฒนาการด้านดนตรีศึกษารูปแบบวงดนตรีเครื่องดนตรีบทเพลงที่ใช้ 2. บุคคลผู้ให้ข้อมูล เป็นบุคคลที่ทำงานในกองดุริยางค์ หรือ เกษียณอายุราชการไปแล้ว บุคคลที่มีความรู้ในกองดุริยางค์แบ่งเป็น 3 กลุ่มได้แก่ ผู้รู้ ผู้ปฏิบัติ ผู้ศึกษา 3. ขอบเขตด้านพื้นที่ ได้แก่ กรุงเทพฯ 4. ขอบเขตด้านระยะเวลาการวิจัย พฤษภาคม 2557 ถึง ธันวาคม 2559 5. ขอบเขตด้านวิธีวิจัย ใช้วิธีวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) โดยการผนวกแนวทางหลักการคิดทฤษฎีแบบปรากฏการณ์วิทยาร่วมกับดนตรีวิทยาซึ่งเรียกว่า สหวิทยาการดนตรีวิทยา (Interdisciplinary Musicology) ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ 1. ทราบถึงภาพสะท้อนในการเปลี่ยนแปลงของพัฒนาการดุริยางค์ทหารอากาศ 2. ทราบถึงวงดนตรีตะวันตกและบทเพลงสำคัญในกองดุริยางค์ทหารอากาศ กรอบแนวคิด เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ในการวิจัยครั้งนี้ มีเครื่องมือเพื่อเก็บข้อมูลภาคสนามและข้อมูลทางด้านเอกสาร มีดังนี้ 1. แบบสำรวจเบื้องต้น (Basic Survey) 2. แบบสัมภาษณ์ (Interview) 3. แบบสังเกต (Observation) การเก็บรวบรวมข้อมูล ผู้วิจัยได้สืบค้นข้อมูลจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ ทั้งสำนักวิทยบริการของมหาวิทยาลัย รวมถึงการสืบค้นทางระบบสารสนเทศ มีรายละเอียดดังนี้ 1. แหล่งสืบค้นข้อมูลเอกสาร ได้แก่ สำนักวิทยาบริการมหาวิทยาลัยขอนแก่น กองดุริยางค์ทหารอากาศ 2. การเก็บข้อมูลภาคสนาม มีขั้นตอน 2.1 การเตรียมการ 2.2 การเลือกพื้นที่ศึกษา 2.3 ขั้นดำเนินการ การจัดกระทำกับข้อมูล 1. จัดลำดับเนื้อหาเรียงไว้เป็นหมวดหมู่ 2. จัดการโน้ตเพลงเป็นไฟล์คอมพิวเตอร์ 3. ตรวจสอบข้อมูล โดยผู้เชี่ยวชาญ 4. ทำการศึกษาข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล 1. วัตถุประสงค์ที่ 1 วิเคราะห์ประเด็นต่าง ๆ ที่มีผลกระทบต่อสังคมจากปรากฏการณ์ 2. วัตถุประสงค์ที่ 2 วิเคราะห์ทางด้านทฤษฎี โดยเริ่มจากส่วนที่เล็กที่สุดของเพลงไปจนถึงภาพรวมทั้งหมด ยึดหลักวิชาการตามหนังสือที่ได้อ้างอิงไว้ ดังนี้ ทำนอง (Melody) คีตลักษณ์ (Form) บันไดเสียง (Scale) ประโยคเพลง (Phrase) การประสานเสียง (Harmony) คอร์ด (Chord) ดนตรีที่บรรเลงประกอบ (Accompaniment) สีสันเครื่องดนตรี (Tone color) การนำเสนอข้อมูล นำเสนอข้อมูลแบบพรรณนาวิเคราะห์ (Descriptive Analysis) ส่วนที่ 1 ภาพสะท้อนทางในการเปลี่ยนแปลงของพัฒนาการดุริยางค์ทหารอากาศ ส่วนที่ 2 ศึกษาบทเพลงสำคัญกองทัพ ผลการศึกษา การศึกษาในครั้งนี้ ผู้วิจัยได้แบ่งผลการวิจัยเป็น 2 ประเด็น เพื่อตอบวัตถุประสงค์ ดังต่อไปนี้ พัฒนาการ หน่วยงาน กองดุริยางค์ 1. พัฒนาการโครงสร้างกำลัง ภายหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 ในรัชสมัยรัชการที่ 6 ได้ส่งกองกำลังไปช่วยพันธมิตรรบกับเยอรมัน และทหารสยามได้ประสบพบเห็นถึงเครื่องบินซึ่ง่ใช้ในยุทธการรบในครั้งนั้น แลเป็นจุดก่อกำเนิดกองบินทหารบกซึ่งมีพระราชประสงค์โดยพระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดชกรมหลวงนครไชยศรี สุรเดช เสนาบดีกระทรวงกลาโหม ในขณะนั้น ทรงมีพระราชดำริร่วมกับ สมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานารถ เสนาธิการทหารบกในครั้งนั้น ซึ่งต่อมากิจการการบินได้พัฒนามาเป็นกองทัพอากาศ (กองบัญชาการทหารสูงสุด. 2525 : 214) กองดุริยางค์ทหารอากาศ มีเค้าโครงเดิมจากหน่วยขลุ่ยกลอง กองบินที่ 4 ลพบุรี ในครั้งนั้นยังขึ้นอยู่กับกองทัพบก ต่อมาหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 กระทรวงกลาโหมได้มีการจัดตั้ง กองทัพอากาศ โดยการแปรสภาพจาก กรมอากาศยาน ที่มีเค้าโครงด้านกำลังพลจาก หน่วยกองบินทหารบก ในปี พ.ศ. 2480 จึงถือเป็นจุดกำเนิดกองทัพอากาศไทย และกองดุริยางค์ทหารอากาศ อย่างเป็นทางการ ปี พ.ศ. 2483 กองทัพอากาศได้ตั้งหมู่แตรวงขึ้นที่ ดอนเมือง ในครั้งนั้นมี เรืออากาศตรี โพธิ์ ศานติกุล มาจัดตั้ง โดยก่อนนั้นท่านรับราชการสังกัด กรมมหรสพหลวงทหารรักษาวัง และการดำเนินการก่อตั้งเป็นที่เสร็จสิ้นเมื่อ วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ.2484 กองทัพอากาศมีคำสั่ง ทอ.ที่ 210/20895 ให้จัดตั้ง กองแตรวงทหารอากาศ โดยขึ้นตรงกับ กองบังคับการทหารอากาศ มี นาวาอากาศเอก หลวงเจริญ จรัมพร ทำหน้าที่หัวหน้ากองบังคับการ กองทัพอากาศ ต่อมาวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ.2484 ได้รวมกำลังพลจากหน่วยแตรวงกองบินน้อยที่ 4 ลพบุรี จำนวน 7 คน โดยมีรายชื่อดังนี้ 1. จ่าอากาศโท ขวัญ น้อยรอด 2. พลทหาร กาจ กุลเศวต 3. พลทหารไฉน ไลยะเกษ 4. พลทหาร สันต์ โตเจริญ 5. พลทหาร สง่า อารัมภีร์ 6. พลทหาร วิชัย ดั้นเจริญ 7. จ่าอากาศโท น้อม ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ปี พ.ศ. 2484 กองทัพอากาศมีคำสั่งย้าย กองแตรวงทหารอากาศ ไปรวมกับกองภาพยนตร์ทหารอากาศ ณ ตำบลทุ่งมหาเมฆ อำเภอยานนาวา จังหวัดพระนคร บังคับบัญชาการโดย นาวาอากาศโท สกล รสานนท์ ในครั้งนั้น กำลังพลรุ่นแรกมีจำนวน 9 นาย ประกอบด้วย เรืออากาศตรี โพธิ์ ศานติกุล ทำหน้าที่ ผู้บังคับกองแตรวงทหารอากาศ, จ่าอากาศโท โพธิ์ ชูประดิษฐ์ ทำหน้าที่ รองผู้บังคับกองแตรวงทหารอากาศ, จ่าอากาศโท น้อม (ไม่ทราบนามสกุล) ทำหน้าที่ งานสารบรรณ จ่าอากาศโท ขวัญ น้อยรอด ทรอมโบน, พลทหาร วิชัย ดั้นเจริญ ทรัมเป็ต, พลทหาร สันต์ โตเจริญ ไวโอลีน พลทหาร สง่า อารัมภีร์ คลาริเน็ต, พลทหาร ไฉน ไลยะเกษ เบส, พลทหาร กาศ กุลเศวต อัลโตแซ็ก ต่อมากองทัพอากาศได้บรรจุพลเรือนเข้ารับราชการเป็นนักดนตรีประจำกองแตรวง กองภาพยนตร์ทหารอากาศเพิ่มอีก 19 คน ตามตาราง ลำดับ ชื่อ หน้าที่ 1 นาย ต่อม น้อยเพิ่มสิน เทเนอร์แซ็ก 2 นาย อุดม มีชูโภชน์ ทรอมโบน 3 นาย วิรัช เชียงทอง เชลโล่ 4 นาย อุปถัมภ์ เกตุจรูญ ไวโอลีน 5 นาย ชะลอ พกุลานนท์ ไม่ทราบหน้าที่ 6 ประหยัด เพ็ชรเสิญ ไม่ทราบหน้าที่ 7 ถวิล เกียรติตระกูล ไม่ทราบหน้าที่ 8 เหรียญ บู่สกุล ฮอร์น 9 พะยอม สาริกะบุตร กลอง 10 ทองคำ ไผ่มณี โอโบ 11 ไปล่ สุนทรมณฑล ไวโอลีน 12 ฟุ้ง คล้ามอุดม ฟลู้ต 13 ทวี แสงบุญ คลาริเน็ต 14 ประเทียบ อัมมปฏิภาค เบส 15 บุญยนต์ จริโมภาส ไวโอลีน 16 เฉลย เที่ยงนิมิต ทรัมเป็ต 17 ล้วน สร้อยผลงาม คลาริเน็ต 18 เสงี่ยม กาศสุวรรณ กีตาร์ 19 พูน กลิ่นบุปผา เบส นักดนตรีกลุ่มนี้ สามารถปฏิบัติเครื่องดนตรีได้แล้วทุกนาย ซึ่งเป็นการผสมวงที่มีนักดนตรีจาก หลายกลุ่มอาชีพทั้ง กรมมหรสพหลวง กรมศิลปากร กองดุริยางค์ทหารบก กองดุริยางค์ทหารเรือ และนักดนตรีอิสระ ส่งผลให้กองแตรวงกองภาพยนตร์ทหารอากาศมีการปรับเปลี่ยนเพิ่มขึ้นเรื่อยมา โดย พ.ศ. 2485 มีกำลังพลรวมทั้งสิ้น 36 คน ประกอบด้วย ผู้บังคับบัญชาดังนี้ 1. นาวาอากาศเอก สกล รสานนท์ ทำหน้าที่ ผู้อำนวยการ 2. พระเจนดุริยางค์ ปิติ วาทยะกร ทำหน้าที่ ผู้อำนวยการโรงเรียนดนตรี 3. เรืออากาศตรี โพธิ์ ศานติกุล ทำหน้าที่ ผู้บังคับกองแตรวง 4. จ่าอากาศโท โพธิ์ ชูประดิษฐ์ ทำหน้าที่ ผู้ช่วยผู้บังคับกองแตรวง 5. กลุ่มนักดนตรี จำนวน 32 คน ที่มาของกองแตรวงทหารอากาศนั้น มีความแตกต่างจากทหารในกลุ่มอื่น โดยภารกิจของทหารกลุ่มนี้จัดขึ้นเพื่อ สนับสนุนการภาพยนตร์ทหารอากาศ ซึ่งพบในโครงสร้างกองภาพยนตร์ในปี พ.ศ. 2485 กองภาพยนตร์ทหารอากาศ พบ คำสั่งให้ กองภาพยนตร์ทหารอากาศ ขึ้นตรงกับกองบังคับการ กองทัพอากาศ พร้อมทั้งมีคำสั่งแต่งตั้งข้าราชการ ดำรงตำแหน่ง เพิ่มเติมส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงพัฒนาการในเดือน มกราคม พ.ศ. 2489 กองภาพยนตร์ ทหารอากาศ ได้รับคำสั่งจากกองทัพอากาศ ให้ยุบเนื่องจากฟิล์มภาพยนตร์ที่นำเข้าจากต่างประเทศมีราคาแพงมาก ไม่คุ้มค่าในการสร้างหนัง ปัจจุบัน กองดุริยางค์ทหารอากาศ ตั้งอยู่ ณ ถนนเตชะตุงคะ แขวงสีกัน เขตดอนเมือง กรุงเทพมหานคร กองดุริยางค์ทหารอากาศมีความพัฒนา ทางด้านโครงสร้างดังภาพโครงสร้าง ภาพที่ 1 โครงสร้างกองดุริยางค์ทหารอากาศ (อัศวิน นาดี,2559) จากโครงสร้าง พบลักษณะเด่นของ กองดุริยางค์ทหารอากาศ คือ การจัดหน่วยขับร้องซึ่งแยกออกมาจากวงดนตรี แสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญในด้านการร้องเพลง ซึ่งเป็นการวางรากฐานอันสำคัญจาก พระเจนดุริยางค์ โดยดนตรีตะวันตกนั้น การขับร้องเป็นพื้นฐานที่ดีที่ส่งผลให้นักดนตรีมีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านเสียงของดนตรีมากขึ้น และนี่เป็นพัฒนาการที่มีคุณค่าสำหรับการดนตรีตะวันตก 2. การบริหารองค์กร ผู้บังคับบัญชากองดุริยางค์ทหารอากาศนั้น มีนโยบายต่อกำลังพล โดยยึดแบบแผนตามกรอบ ยุทธศาสตร์ที่ตั้งโดย กองทัพอากาศ ทั้งนี้มิได้ปฏิบัตินอกเหนือจากกรอบที่ตั้งไว้ พบ วิสัยทัศน์ และหลักการบริหาร จาก นาวาอากาศเอก ชฏิล บุตรศรี หัวหน้ากองดนตรี กองดุริยางค์ทหารอากาศ (สัมภาษณ์. 27 พศจิกายน 2558) กล่าวว่า นโยบายที่กองดนตรีปฏิบัตินั้น ทางกองให้ความสำคัญในการศึกษาต่อเพิ่มเติมของทหารด้วยการอนุญาตให้เรียนในช่วงเสาร์อาทิตย์ ทั้งนี้เพื่อสร้างความเป็นมาตรฐานวิชาการดนตรี กำลังพลหลายคนเรียนจบในระดับปริญาตรี ถึงปริญญาโท ซึ่งเป็นพัฒนาการที่สำคัญส่งผลให้กองดนตรีมีกำลังพลที่มีประสิทธิภาพ จากคำกล่าวนี้สอดคล้องกับพัฒนาการด้านกำลังพลโดยตรงซึ่งส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในความรู้ความสามารถในกำลังพล พัฒนาการด้านดนตรี 1. รูปแบบวงดนตรี รูปแบบวงดนตรีนั้น ประกอบด้วย 2 รูปแบบ คือ 1) ดนตรีที่ใช้ในการเดินนำแถวทหาร 2) วงดนตรีที่ใช้ในการนั่งบรรเลง รายละเอียดมีดังนี้ 1.1 ดนตรีที่ใช้ในการเดินนำแถว เป็นวงดนตรีประเภทวงโยธวาทิต โดยจัดเป็นแผนกหนึ่งในกองดนตรี ซึ่งมีกำลังพลหลักในการแปรสภาพไปสู่วงดนตรีประเภทอื่นๆ จากการสัมภาษณ์ เรืออากาศเอก พิสิทธิ์ ภวปัญญากุล (8 เมษายน 2560) หัวหน้าแผนกโยธวาทิต กองดุริยางค์ทหารอากาศ เกี่ยวกับภาระกิจ โดยมีการอธิบายถึงคำว่า Description ซึ่งมีความหมายในการแจงรายละเอียดงานอย่างละเอียดโดยการเพิ่มเติมการสร้างความสำคัญในหน้าที่การเอาใจใส่รายละเอียดในภาระกิจโดยเคร่งครัด ซึ่งมีแบบแผนมาจากกองทัพอากาศอเมริกา จากคำตอบสามารถวิเคราะห์ถึงแนวทางการปฏิบัติของวงดนตรีนั้นมีที่มาจากทหารอเมริกาในระบบการจัดการเป็นส่วนใหญ่ทั้งนี้โดยภาพลักษณ์ของทหารอากาศซึ่งมีความทันสมัยในการปฏิบัติภาระกิจต่างๆ วงดนตรีโยธวาทิตทำหน้าที่บรรเลงเพลงเพื่อการเดินขบวนและบรรเลงเพลงประกอบพิธีการทางทหารเป็นสำคัญ อาทิเช่น การตรวจกำลังพล จากผู้นำประเทศอื่นๆ ที่เข้ามาเยือน ภารกิจเหล่านี้ส่งผลให้นักดนตรีมีความตื่นตัวในการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง 1.2 ดนตรีนั่งบรรเลง วงดนตรีประเภทนี้ โดยมากเป็นวงดนตรีที่ใช้สำหรับความบันเทิง หรือ เพื่อการใดการหนึ่งซึ่งมีจุดประสงค์ในการก่อตั้ง โดยประกอบด้วยวงหัสดนตรีทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์หน่วยงานกองดุริยางค์ทหารอากาศ ด้วยวิธีการจิตวิทยาอันส่งผลให้ประชาชนมีความคิดที่ดีต่อกิจการทหาร โดยความสำคัญที่ช่วยสนับสนุนนโยบายรัฐบาลด้วยวิธีรัฐนิยมในสมัยจอมพลป.พิบูลสงคราม ซึ่งมุ่งเน้นความมีอารยะธรรมของผู้คนในสังคม สอดคล้องกับคำกล่าวของ เฉลิมศักดิ์ พิกุลศรี (สัมภาษณ์. 16 มีนาคม 2560) ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองรัฐบาลได้ปลุกกระแสนิยมความรักชาติความเข้าใจในการเสียสละของบรรพบุรุษ การสร้างมาตรฐานในการวัฒนธรรมจัดระบบให้สังคมมีแบบแผนไปในทิศทางเดียวกัน โดยการมุ่งเน้นทางกิจการดนตรีสร้างความรักสามัคคี การรำวงถือเป็นกิจกรรมหนึ่งที่ก่อเกิดความสัมพันธ์ดังกล่าว โดย เรียกยุคสมัยสังคมนั้น ยุคมาลานำไทย ผู้วิจัยมีความเห็นสอดคล้องในยุคนั้นตามที่ได้สัมภาษณ์ ด้วยการล่อหลอมทางวัฒนธรรมการสร้างความเข้าใจในกิจการทหารจึงเป็นที่มาของปฏิบัติการจิตวิทยาก่อกำเนิดวงหัสดนตรี โดยการบรรเลงเพลงที่อยู่ในวิถีสังคมส่งผลให้เป็นวงที่มีความนิยม สำหรับภาคประชาชนทั้งในรูปแบบการบรรเลงรวมถึงเนื้อหาของการบรรเลงที่มุ่งเน้นด้านการสร้างความสนุกสนานความสุขให้แด่ประชาชนเป็นสำคัญ วงจุลดุริยางค์ เป็นวงดนตรีที่มีศักยภาพในการบรรเลงเพลงคลาสสิค ด้วยกระแสความนิยมในดนตรีเช่นนี้ที่มีภาพพจน์ด้านความหรูหราความสง่างาม ด้วยการหลั่งไหลทางวัฒนธรรมจากตะวันตก เกิดกระแสวงออเครสตราส่งผลให้กองทัพอากาศได้จัดตั้งวงดนตรีประเภทนี้ เพื่อการบรรเลงเพลงสำหรับการฟังในห้องประชุม ทั้งนี้การนั่งบรรเลงนี้มีไว้สำหรับการต้อนรับแขกบ้านเมือง วงดนตรีประเภทนี้มีการลงทุนทางด้านเครื่องดนตรีสูง ในระยะแรกของการสร้างวงดนตรีประเภทนี้จึงจำต้องมีจำนวนเครื่องดนตรีในความจำกัดพระเจนดุริยางค์ผู้ก่อตั้งวงดนตรีนี้จึงใช้คำว่า จุลดุริยางค์ อันหมายถึง วงดุริยางค์ขนาดย่อม เหมาะสมกับกำลังพลที่ไม่มากนักในยามนั้น ปัจจุบันวงดนตรีจุลดุริยางค์พัฒนาโครงสร้างมาสู่วงซิมโฟนีออเครสตราที่มีจำนวนนักดนตรีตามรูปแบบมาตรฐานสากล เป็นการพัฒนาด้านวงดนตรี ซึ่งสะท้อนออกมาให้พบเห็น 2. เครื่องดนตรี จากการศึกษาประเด็นเครื่องดนตรี ผู้วิจัยพบวงดนตรีในกองดุริยางค์ทหารอากาศในอดีต มีที่มาจาก เอกสาร 55 ปี กองดุริยางค์ทหารอากาศ (หนังสือที่ระลึกครบรอบ 55 ปี กองดุริยางค์ทหารอากาศ. 2535) เมื่อแรกเริ่มก่อตั้งมีวงดนตรีมาตรฐาน 3 วงดนตรีประกอบด้วย 2.1 วงโยธวาทิต วงดนตรีประเภทนี้เป็นวงดนตรีหลักที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรมทางทหาร และเป็นวงดนตรีที่เป็นเอกลักษณ์ สำหรับหมู่ทหารด้วยคุณลักษณะทางกายภาพของเครื่องดนตรีที่ประกอบด้วย 3 กลุ่มเครื่องดนตรี อันได้แก่ 2.1.1 กลุ่มเครื่องลมทองเหลือง (Brass section) เครื่องดนตรีกลุ่มนี้ทำหน้าที่บรรเลงทำนองหลัก และทำนองสอดประสาน ตัวเครื่องผลิตจากทองเหล็กผสมทองเหลืองมีพัฒนาการจากเครื่องที่ออกเสียงที่ไม่มีกลไกวาล์วที่สร้างระดับเสียง กระทั่งในปี ค.ศ. (นำข้อความกำเนิดแตร อวิสิทธิ์ มาใส่) ได้พัฒนาเครื่องดนตรีคอร์เน็ตและทรัมเปตให้มีวาล์วเพื่อสร้างเสียงที่เป็นครึ่งเสียงได้ ซึ่งเครื่องดนตรีกลุ่มนี้ ประกอบด้วย คอร์เน็ต ทรัมเป็ต, เฟรนช์ฮอร์น, ทรอมโบน, ยูโฟเนียม, บาริโทนฮอร์น, ทูบา 2.1.2 กลุ่มเครื่องลมไม้ (Wind Section) เครื่องดนตรีกลุ่มนี้ทำหน้าที่บรรเลงทำนองหลักรวมถึงทำนองสอดประสานด้วยสีสันของเสียงที่มีความแตกต่างจากกลุ่มอื่น ทำนองที่สร้างจากเสียงเครื่องดนตรีกลุ่มนี้จึงมีลักษณะเสียงที่มีความนุ่มนวลเสียงที่ไม่แผดดัง ส่งผลให้เสียงที่มีคุณภาพ ประหนึ่งว่าเป็นเสียงที่มีการอุ้มเสียงของกลุ่มทองเหลืองให้ทำนองมีความเด่นชัดมากขึ้น เครื่องดนตรีกลุ่มนี้มีกลไกกระเดื่องที่ใช้สำหรับปรับรูปิดเปิดในท่อลมสร้างระดับเสียงต่างๆ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของเครื่อง ประกอบด้วยเครื่องดนตรี พิกโคโล, ฟลูต, คลาริเนต, อัลโตแซ็กโซโฟน, เทเนอร์แซ็กโซโฟน บาริโทนแซ็กโซโฟน กายภาพที่มีขนาดใหญ่จึงมีสีสันเสียงที่ต่ำบรรเลงโน้ตในเสียง 2.1.3 กลุ่มเครื่องกระทบ (Percussion Section) เครื่องดนตรีกลุ่มนี้ทำหน้าที่สร้างจังหวะในการบรรเลง ทั้งนี้แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ตามลักษณะการบรรเลงดังนี้ (1) กลุ่มที่สร้างทำนอง (Pitch Percussion Section) ประกอบด้วย ไซโลโฟน, กล็อกเคนชปีล (นิ๊งหน่อง), มาริมบา, เครื่องดนตรี กลุ่มนี้อ่านโน้ตกุญแจซอล ด้วยลักษณะทางกายภาพที่ผลิตจากเหล็กและไม้ที่นำมาวางเรียงสร้างเสียงแบบไดอะทอนิก (Diatonic) 12 เสียงจึงทำให้เครื่องดนตรีกลุ่มนี้สามารถบรรเลงทำนองหลักและทำนองสอดประสานได้อย่างไม่จำกัดในช่วงเสียง และคุณลักษณะของเสียงที่สร้างสีสันเครื่องเคาะที่มีเสียงทำนองส่งผลให้ทำนองมีความเด่นชัดมากขึ้น (2) กลุ่มที่สร้างทำนองไม่ได้ (Non-pitch Percussion Section) ประกอบด้วย กลองใหญ่, กลองแสนร์, ฉาบ เครื่องดนตรีกลุ่มอ่านโน้ตในแบบเฉพาะของกลุ่มเครื่อง ซึ่งไม่มีระดับเสียงในการบันทึกดังเช่นกุญแจเสียงเครื่องดนตรีในกลุ่มอื่นๆ หากแต่เป็นเครื่องหมายที่กำหนดบ่งบอกถึงจังหวะโดยการให้ความสำคัญทางจังหวะที่เป็นรูปแบบกระสวนจังหวะในลีลาต่างๆ ลักษณะทางกายภาพที่ทำจากหนังที่ขึงตึงกับตัวกลองซึ่งทำให้เกิดเสียงในการสร้างจังหวะเพื่อให้การบรรเลงทำนองมีหลักในการนับจังหวะที่เท่ากันทั้งวงดนตรี เครื่องดนตรีวงดนตรีโยธวาทิต มีรูปแบบการบรรเลงแบบยืนบรรเลงในกลางแจ้ง ด้วยภารกิจหน้าที่หลัก เช่น การสวนสนาม ตรวจกำลังพล การเดินนำขบวนทหารกองเกียติยศ ในพิธีสวนสนาม สำคัญๆต่าง ส่งผลให้วงดนตรีวงนี้ทำหน้าที่บรรเลงหลักให้กับหน่วยทหารในการสร้างจังหวะการเดินที่พร้อม ดังภาพประกอบ ภาพที่ 2 การบรรเลงดนตรีวงโยธวาทิต (กองดุริยางค์ทหารอากาศ, 2558) ปัจจุบันพบการบรรเลงดนตรีวงโยธวาทิต ในรูปแบบการนั่งบรรเลง ซึ่งเป็นพัฒนาการทางดนตรี อันส่งผลให้ก่อเกิดวงซิมโฟนิก วงดนตรีที่พัฒนามาจากวงโยธวาทิต ซึ่งมีเครื่องดนตรีที่เพิ่มขึ้นในบางกลุ่มเสียงใช้ในการบรรเลงแบบนั่งบรรเลง อย่างไรก็ตามความนิยมในกลุ่มทหารสำหรับวงซิมโฟนิกมิได้ตอบสนองภาระกิจหลักดังที่ควรจะเป็นโดยเครื่องดนตรีบางชิ้นไม่สะดวกในการยืนบรรเลง จึงส่งผลให้ไม่นิยมในการประกอบพิธีกรรมทหาร ข้อสังเกตบางประการ ในการจัดการระบบ การแบ่งเสียงของเครื่องดนตรีนั้นมีความมุ่งหมายที่สัมพันธ์กับการเรียบเรียงเสียงประสานเพลง โดยหลักทฤษฎีการแบ่งกลุ่มเสียงของดนตรีตะวันตกแบ่งเป็น 4 ประเภท ได้แก่ โซปราโน อัลโต เทเนอร์ เบส โดยเสียง สูง กลาง ต่ำ ซึ่งจำแนกพิเศษออกได้เป็น เสียงสูงในกลุ่มเสียงต่ำ คือ เทเนอร์ ที่มีลักษณะพิเศษโดยสีสันทางเครื่องดนตรีที่สามารถบรรเลงช่วยเสียงต่ำของเสียงสูงได้ซึ่งในหลักการเรียบเรียงเสียงประสานเป็นการทบทำนองจากเสียงสูงให้ความเด่นชัดในเสียงทำนองมากขึ้น ในลักษณะเดียวกันกลุ่มเครื่องดนตรีกลุ่มนี้สามารถบรรเลงเสียงฐานรากได้ในตัว ด้วยคุณลักษณะเด่นของเครื่องดนตรีกลุ่มนี้ พัฒนาการที่สำคัญของเครื่องดนตรีในกลุ่มแซ็กโซโฟน คือ การสร้างเครื่องดนตรีครบตามแนวเสียงซึ่งเครื่องดนตรีกลุ่มนี้ ประกอบด้วย โซปราโนแซ็กโซโฟน อัลโตแซ็กโซโฟน เทเนอร์แซ็กโซโฟน และ บาริโทนแซ็กโซโฟน ซึ่งส่งผลให้เครื่องดนตรีกลุ่มนี้สามารถบรรเลงในแบบฉบับวงเล็กได้ในกลุ่มอันเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นในกลุ่มนี้ 2.2 หัสดนตรี (Big Band) วงดนตรีประเภทนี้ ใช้สำหรับกิจกรรมสร้างความบันเทิงในหมู่คณะ โดยออกแบบมาเพื่อการสร้างความสนุกสนานในงานรื่นเริงในโอกาสฉลองต่างๆ โดยลักษณะทางกายภาพของวงดนตรีในยุคหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองที่มีเทคโนโลยีทางไฟฟ้าเข้ามาพัฒนาเครื่องดนตรีกลุ่มนี้มีเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยเครื่องดนตรีที่ประกอบด้วย 3 กลุ่ม ได้แก่ 2.2.1 กลุ่มเครื่องลมทองเหลือง เครื่องดนตรีกลุ่มนี้ทำหน้าที่บรรเลงทำนองหลัก และ ทำนองสอดประสาน ลักษณะทางกายภาพของเครื่องดนตรีเป็นเช่นเดียวกับเครื่องดนตรีในวงโยธวาทิต ซึ่งเครื่องดนตรีกลุ่มนี้ แบ่งเป็น 3 กลุ่มตามลักษณะเสียง ประกอบด้วย ทรัมเป็ต, ทรอมโบน, เบสทรอมโบน 2.2.2 กลุ่มเครื่องลมไม้ เครื่องดนตรีกลุ่มนี้ทำหน้าที่บรรเลงทำนองหลักรวมถึงทำนองสอดประสานด้วยสีสันของเสียงที่มีความแตกต่างจากกลุ่มอื่น ทำนองที่สร้างจากเสียงเครื่องดนตรีกลุ่มนี้จึงมีลักษณะเสียงที่มีความนุ่มนวลเสียงที่ไม่แผดดัง ส่งผลให้เสียงที่มีคุณภาพ ประหนึ่งว่าเป็นเสียงที่มีการอุ้มเสียงของกลุ่มทองเหลืองให้ทำนองมีความเด่นชัดมากขึ้น เครื่องดนตรีกลุ่มนี้มีกลไกกระเดื่องที่ใช้สำหรับปรับรูปิดเปิดในท่อลมสร้างระดับเสียงต่างๆ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของเครื่องประกอบด้วย อัลโตแซ็กโซโฟน, เทนเนอร์แซ็กโซโฟน และ บาริโทนแซ็กโซโฟน 2.2.3 กลุ่มเครื่องสร้างจังหวะ (Rhythm Section) เป็นกลุ่มเครื่องดนตรีที่มีความสำคัญในด้านการสร้างจังหวะสนับสนุนให้กลุ่มต่างๆ ที่กล่าวมาแล้วบรรเลง เครื่องดนตรีกลุ่มนี้ไม่มีกุญแจเหมือนดังเครื่องดนตรีกลุ่มอื่นๆ ดังภาพตัวอย่าง ภาพที่ 3 การอธิบายสัญลักษณ์สำหรับกลองชุด (http://drummagazine.com/drum-notation-guide/, 2558) เครื่องดนตรีนี้คือกลองชุด ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีที่ออกแบบมาสำหรับวงแจ๊สเครื่องดนตรีนี้นำเข้ามาในสังคมนักดนตรีที่เป็นพัฒนาการในช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ด้วยอิทธิพลดนตรีแจ๊ส 2.2.4 กลุ่มเครื่องกระทบ เป็นกลุ่มเครื่องดนตรีที่ทำหน้าที่สร้างสีสันจังหวะเพลงให้มีความกระชับฟังแล้วเพลิดเพลินชวนให้เต้นรำ เครื่องดนตรีกลุ่มนี้มีที่มาจากประเทศอเมริกาใต้ ซึ่งเครื่องดนตรีประกอบด้วย กลองทอมบา ลูกซัด (Maracas) ทิมบาเลส และแทมบูรีน 2.2.5 กลุ่มเครื่องไฟฟ้า เป็นพัฒนาการสำหรับเครื่องดนตรีในยุคนี้ ศตวรรษที่ 19 การกำเนิดไฟฟ้าส่งผลให้เทคโนโลยีพัฒนาไปหลายด้านนวัตกรรมใหม่สำหรับเครื่องดนตรีเป็นจุดสำคัญในการสร้างเครื่องดนตรีในประเภทนี้ จากพัฒนาการเครื่องดนตรีในระบบเสียงธรรมชาติมาสู่วงจรไฟฟ้าอิเล็กทรอนิก ซึ่งเครื่องดนตรีในกลุ่มนี้ประกอบด้วย กีตาร์ไฟฟ้า เบสไฟฟ้า และคีย์บอร์ด หรือ ออแกน หรือเปียโนไฟฟ้า วงหัสดนตรีมีรูปแบบในการบรรเลงแบบนั่งบรรเลง โดยบทบาทหน้าที่สำหรับสร้างความบันเทิง จึงมีลักษณะที่คล่องตัวในการบรรเลงเพื่อการแสดงถึงทักษะทางดนตรีที่นำเสนอต่อสาธารณะชนและเกิดความบันเทิงในการแสดงท่าทางประกอบ สำหรับวงดนตรีประเภทนี้จึงนิยมหางเครื่องไว้สำหรับแสดงประกอบบทเพลง รูปการบรรเลงเป็นดังภาพตัวอย่าง ภาพที่ 4 รูปแบบการบรรเลงวงหัสดนตรี(กองดุริยางค์ทหารอากาศ, 2558) จากภาพเป็นการบรรเลงโซโลในกลุ่มเครื่องลมไม้ ด้วยการยืนเพื่อสร้างความโดดเด่นให้กับการแสดงทั้งนี้ เมื่อทำการโซโลเสร็จกลุ่มเครื่องดนตรีก็จะนั่งบรรเลงดังรูปแบบที่วางไว้ ข้อสังเกตบางประการ ในการจัดหมวดหมู่เครื่องดนตรีในกลุ่มนี้มีความมุ่งหมายที่จะสร้างความโดดเด่นเพื่อความน่าสนในการบรรเลงดังนั้นจึงเป็นการจัดการระบบเสียงโดยผู้เรียบเรียงเสียงประสานซึ่งใช้หลักการประพันธ์เพลงแบบแจ๊สซึ่งมีจุดมุ่งหมายการเน้นทักษะการบรรเลงของผู้บรรเลงจึงเกิดเสียงที่ซ้อนเสียงกันในกลุ่ม (Overlap) ได้ ทั้งนี้ถือเป็นจุดเด่นสำคัญบางประการสำหรับวงดนตรีประเภทนี้ 2.3 จุลดุริยางค์ (Orchestra) เป็นวงดนตรีที่มีหน้าที่ในการบรรเลงสำหรับการต้อนรับคณะราชทูต รวมถึงบุคคลสำคัญที่มาเยือนประเทศ หรือ ทำหน้าที่ในด้านการบันเทิงซึ่งในการฟังที่เน้นความหรูหรามีระดับอันบ่งบอกถึงรสนิยมที่มีอารยะธรรมดังเช่นนานาประเทศนิยม ประกอบด้วยเครื่องดนตรีดังนี้ 2.3.1 กลุ่มเครื่องสาย (String) ทำหน้าที่บรรเลงทำนองหลักและทำนองสอดประสานสลับสับเปลี่ยนกันไปตามสีสันของเครื่องดนตรีโดยผู้เรียบเรียงเสียงประสาน ประกอบด้วย ไวโอลีน วิโอล่า เชลโล และดับเบิลเบส วงดนตรีประเภทนี้ได้รับอิทธิพลมาจากดนตรีคลาสสิค ด้วยลักษณะการบรรเลงที่เป็นเอกลักษณ์ส่งผลให้วงดนตรีนี้ได้รับความนิยม วงจุลดุริยางค์เป็นการนั่งบรรเลงดังภาพประกอบ ภาพที่ 5 การบรรเลงวงจุลดุริยางค์ (กองดุริยางค์ทหารอากาศ, 2558) จากภาพเป็นผสมวงของกลุ่มดนตรีเครื่องสายและเครื่องลมทองเหลือง ลักษณะเด่นของวงดนตรีจุลดุริยางค์คือการบรรเลงทำนองหลักจากเครื่องสายพัฒนาการสำคัญที่พบในเครื่องดนตรีกลุ่มวงนี้ คือ บทเพลงที่ใช้บรรเลงมีการประยุกต์ใช้บทเพลงในสังคมมากกว่าเพลงคลาสสิคในอดีต 3. บทเพลงสำคัญในหน่วยงาน การศึกษา เพลงชาติไทย เป็น มีรายละเอียดดังนี้ 3.1 ประวัติเพลงชาติไทย บทเพลงที่บ่งบอกถึงความรักชาติ ซึ่งจุดเริ่มต้นเมื่อครั้ง ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2474 นาวาตรีหลวงนิเทศกมลกิจ ร.น. (กลางโรจนเสนา) สมาชิกคณะราษฎร์ ในเหตุการณ์ปฏิวัติการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ท่านมาหารือให้พระเจนดุริยางค์ ได้แต่งเพลงชาติในลีลาแบบปลุกใจ เพื่อให้ประชาชนได้ร้อง ซึ่งเป็นความต้องการของคณะราษฏร์หวังที่จะใช้เพลงเป็นสื่อเสริมสร้างและตอกย้ำประชาธิปไตยให้กับประชาชน (สุกรี เจริญสุข, 2531: 59) ด้วยเพลงในลักษณะปลุกใจที่มีความคล้ายกับเพลงชาติฝรั่งเศสที่ชื่อ La Maraeillaise ซึ่งในช่วงแรกพระเจนดุริยางค์ได้ปฏิเสธไปด้วยเหตุที่ว่าเพลงชาติไทยที่ใช้อยู่ทุกวันนี้ดีอยู่แล้วเป็นเพลงที่ถวายพระเกียรติแด่พระเจ้าแผ่นดิน อีกทั้งมิใช่คำสั่งของทางราชการ ต่อมาภายหลังการปฏิวัติ มิถุนายน 2475 ท่านจึงต้องแต่งเพลงชาติให้คณะราษฎร์ ท่านปฏิเสธได้ยาก แต่ท่านพระเจนก็ขอสงวนนามผู้แต่งไว้ ในเวลา 7 วันในการดำเนินการเป็นเรื่องที่ยากลำบากยิ่งนักกระทั่งวันสุดท้ายขณะที่พระเจนกำลังเดินทางด้วยรถรางไปยังสถานที่ทำงานจึงนึกด้วยทำนองเพลงได้อย่างลงตัวและทำการจดบันทึกเมื่อมาถึงสถานที่ทำงาน กระทั่งเพื่อนท่านเข้ามาหาในขณะที่ท่านพระเจนกำลังทดลองกับเปียโน จึงได้ตกลงให้พระเจนเรียบเรียงเสียงประสาน เพลงชาติมีทำนองเดียวที่ประพันธ์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475 โดยเนื้อเพลงในยุคแรกนั้นแต่งโดย ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) กระทั่งมาถึงวันที่ 26 สิงหาคม 2482 รัฐบาลได้จัดการประกวดแข่งขันเนื้อร้องเพลงชาติใหม่ ด้วยในยุคนั้น ของรัฐบาลให้ตัดทอนให้มีความสั้นลง ด้วยเหตุผลประเทศมหาอำนาจ มักจะใช้เพลงเหล่านี้ด้วยความรวดเร็วไม่ยาวมาก หากเปรียบเทียบกับประเทศมหาอำนาจเล็กจะใช้เวลานาน แต่มหาอำนาจที่ยิ่งใหญ่จะใช้เวลาไม่นาน จึงให้ประกวดเพลงชาติให้สั้นลง อีกทั้งมีการเปลี่ยนนามประเทศใหม่จากสยามเป็นไทย ในปี 2483 จึงมีการเรียกร้องให้ปรับเนื้อเพลงชาติใหม่ โดยรัฐบาลจึงจัดประกวดเนื้อเพลง กระทั่งได้ผู้ชนะ คือ พันเอก หลวงสารานุประพันธ์ และนำเนื้อดังกล่าวมาปรับใหม่ให้สมบูรณ์โดยรวม 5 ครั้ง และประกาศใช้ใน วันที่ 10 ธันวาคม 2482 ลงนาม จอมพลปพิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี จึงเป็นที่มาของเพลงชาติที่ใช้ในพิธีมาถึงปัจจุบัน 3.2 บทบาทหน้าที่ของเพลง โดยลักษณะทางทำนองของเพลงชาติไทย มีจังหวะและความรู้สึกที่ปลุกใจ ด้วยทำนองที่มีความคล้ายคลึงกับเพลงชาติฝรั่งเศส โดยพระเจนดุริยางค์ได้ปฏิบัติตามที่ แนวทางรัฐบาลยุคเจ้าพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) ซึ่งได้ใช้บทเพลงชาติเป็นสื่อในการแสดงออกถึงความรักชาติ 3.3 วิเคราะห์เพลงชาติ 3.3.1 คีตลักษณ์ บทเพลงมีลักษณะเป็นทำนองแบบถามตอบ บรรเลงแบบท่อนเดียวลงจบ 20 ห้องเพลง แบบเพลงสมัยนิยมด้วยทำนองที่ไม่ยาวนักประกอบกัน 9 ประโยคไม่มีการย้อนกลับจึงจัดอยู่ในเพลงแบบ Thru-Part From โดยมีโครงสร้างดังภาพ ภาพที่ 6 โครงสร้างเพลงชาติ (อัศวิน นาดี, 2560) จากท่อนเพลง หรือ โครงสร้างพบการนำประโยคสุดท้าย Phrase 9 มาใช้เป็น Intro ซึ่งเป็นแนวทางที่สร้างลักษณะทำนองในการส่งให้ผู้ร้องเข้าทำนองร้องได้อย่างถูกต้องพร้อมเพรียง 3.3.2 ทำนอง ภาพที่ 7 การแสดงทำนองเพลงชาติไทย(อัศวิน นาดี, 2560) ท่อนนำ เป็นพบช่วงเสียงที่ไล่ระดับเสียงจากโน้ต ตัว C4 ไปสู่โน้ต E5 ด้วยโน้ตแบบไล่ระดับเสียง ประโยคที่ 1 เริ่มที่ท้ายห้องที่ 4 จบที่ห้องที่ 6 โดยลักษณะการขึ้นต้นทำนองแบบอะนาคูสิส ประโยคที่ 2 มีการดำเนินทำนองเคลื่อนที่ในลักษณะคงที่ไม่มีการกระโดดข้ามขั้นมากนัก ประโยคที่ 3 เริ่มท้ายห้องที่ 8 ด้วยการซ้ำทำนองประโยคที่ 1 ประโยคที่ 4 มีการเคลื่อนที่ทำนองแบบกระโดดในระยะคู่ 5 ในทิศทางขึ้นจากโน้ตตัว G4 ไปโน้ต D5 และเป็นโน้ตเสียงสูงที่สุดในประโยคนี้ ประโยคที่ 5 และ ประโยคที่ 6 มีความรู้สึกตึงเครียดเริ่มผ่านไปจากการเคลื่อนที่แบบพิสดาร ประโยคที่ 7 พบการเคลื่อนที่ทำนองในทิศทางขึ้นแบบก้าวกระโดด ประโยคที่ 8 โน้ตเริ่มต้นหักมุมจากโน้ตจบใน ประโยคที่ 9 พบทำนองที่เคลื่อนที่ลงจากจุดสูงสุดและเคลื่อนที่ขึ้นไปอีก โดยระยะขั้นคู่ในช่วงเสียงคู่ 5 ซึ่งบทปิดท้ายนี้ส่งหนุนให้อารมณ์เพลงนั้นจบอย่างสมบูรณ์ 3.3.3 การประสานเสียง การดำเนินคอร์ด พบการใช้เทคนิค คอร์ดพลิกกลับ และการใช้เทคนิคการเคลื่อนที่ Dominant Motion ระดับสอง ด้วยเทคนิค Secondary Dominant ถึง 7 ครั้ง และเทคนิคการใช้คอร์ดพลิกกลับซึ่งเป็นวิธีการที่ช่วยให้เกิดการเคลื่อนที่ของเบสที่มีความ ที่ส่งหนุนให้ทำนองและคอร์ดมีสมดุลแห่งเสียง ฟังแล้วรู้สึกถึงการเคลื่อนที่คอร์ดอย่างราบรื่นดังภาพตัวอย่าง I IV V/Vi V6/V I4 V7¬ I I IV4 I I V¬¬¬¬7 I I IV4 I V4 V/V V7/V V7 I V6 V6/V V I IV V/Vi V6/V I4 V7¬ I ภาพที่ 8 การแสดงตำแหน่งคอร์ด (อัศวิน นาดี, 2560) 3.3.4 ศึกษา สีสันเครื่องดนตรี Tone color พบเครื่องดนตรีประกอบด้วย 3 กลุ่ม คือ เครื่องลมไม้ เครื่องทองเหลือง และ เครื่องประกอบจังหวะ โดยการสร้างทำนองจากเครื่องทองเหลืองและลมไม้สลับกันไปในการกระจายเครื่องมือ พื้นผิว มีลักษณะแบบ โฮโมโฟนี สรุปผล 1. โครงสร้างของกองดุริยางค์ทหารอากาศ พัฒนามาจากจากกองบินทหารบก 2. วงดนตรีโยธวาทิต เป็นวงดนตรีหลักในยุคแรกเริ่มซึ่งต่อมามีพัฒนาการไปสู่วงอื่นๆ 3. วงหัสดนตรี เป็น วงดนตรีที่มีการพัฒนามาจากวง 2.1 ทั้งนี้วงดนตรีนี้มีการพัฒนาทางด้านการบรรเลงอันโดดเด่น คือทักษะของผู้บรรเลงที่ปฏิบัติได้อย่างพิสดาร เพื่อสร้างความน่าสนใจในวง 4. วงจุลดุริยางค์ อยู่ในรูปแบบการนั่งบรรเลง ทำหน้าที่บรรเลงเพื่อความบันเทิง 5. บทเพลงสำคัญ เพลงชาติ เป็นเพลงที่มีความสำคัญต่อหน่วยงาน รวมถึงมีคุณค่าในทางวิชาการประพันธ์เพลง พบ 6. โครงสร้างเพลงแบบท่อนเดียว 7. ทำนอง มีลักษณะการประพันธ์ตามหลักการทฤษฎีดนตรีตะวันตก มีการใช้ขั้นคู่ที่พิสดารในบางช่วงเพื่อสร้างความสนใจในบทเพลง 8. การประสานเสียง พบการดำเนินคอร์ดตามหลักทฤษฎีดนตรีตะวันตก พบการพลิกกลับของคอร์ดซึ่งเป็นเทคนิคอันโดดเด่น พบการใช้คอร์ดระดับสองในการเกลาเสียงเบสเพื่อสร้างความราบรื่นทางทำนอง 9. สีสันเครื่องดนตรี ประกอบด้วยกลุ่มเครื่องดนตรีวงโยธวาทิตมีพื้นผิวแบบโฮโมโฟนี อภิปรายผล 1. ในด้านโครงสร้างกำลังพลมีความสอดคล้องกับทฤษฎี วิวัฒนาการวัฒนธรรม (สมศักดิ์ ศรีสันติสุข, 2552: 124) โดยสรุปว่า “เมื่อกาลเวลาผ่านไป ความคิดเหตุผล และพฤติกรรม มีความก้าวหน้าเพิ่มมากขึ้น หลักนี้จึงนำไปสู่ความหมายของวิวัฒนาการวัฒนธรรมแบบก้าวหน้า” จากข้อความมีความสอดคล้องในการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างกองดุริยางค์ทหารอากาศซึ่งกำเนิดจากความต้องการมีวงดนตรีเพื่อใช้เดินยามรักษาการณ์ด้วยกำลังพลเพียงไม่กี่นาย พัฒนาไปสู่กำลังพลที่มากขึ้นด้วยนโยบายด้านยุทธศาสตร์ในยุคหลังเปลี่ยนแปลงการแนวทางการบรรเลงดนตรีจึงปรับเปลี่ยนไปตามนโยบายของรัฐบาลส่งผลให้กองดุริยางค์ทหารอากาศมีการปรับเปลี่ยนวิถีทางดนตรีไปสู่กิจการเพื่อความบันเทิงควบคู่กับภาระกิจ เหตุการณ์เหล่านี้เป็นภาพสะท้อนที่ทำให้เห็นถึงความต้องการของสังคมมีความนิยมในดนตรีดุริยางค์ทหารอากาศ 2. พัฒนาการวงดนตรีตะวันตกและบทเพลงสำคัญในกองดุริยางค์ทหารอากาศไทย การก่อเกิดกองดุริยางค์ทหารอากาศมีความสอดคล้องกับ ทฤษฎีแพร่กระจาย (สมศักดิ์ ศรีสันติสุข, 2552: 127) เขียนว่า “วัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกันเกิดจากขบวนการแพร่กระจาย” ด้วยการจัดตั้งหน่วยขลุ่ยกลองที่กองบินที่ 4 ลพบุรีเป็นการเลียนแบบทางพฤติกรรมในการปฏิบัติการณ์ตรวจการณ์เวรยามโดยการนำของวงดนตรีขนาดเล็กซึ่งมีที่มาจากหน่วยรักษาวัง จากนั้นจึงมีวิวัฒนาการนำไปสู่กองแตรดังกองทัพบก และวงจุลดุริยางค์ ดังกองทัพเรือ และวงหัสดนตรี ด้วยวิถีทางการแพร่กระจายวัฒนธรรม 3. บทเพลงพิธีการ เป็นภาพสะท้อนอันสำคัญระหว่างรัฐบาลที่มีต่อประชาชนผ่านกองดุริยางค์ทหารอากาศ ซึ่งความต้องการของคณะราษฎร์มีความสอดคล้องกับ ทฤษฎีการแพร่กระจาย (สมศักดิ์ ศรีสันติสุข, 2552: 127) ในการแต่งเพลงชาติเพื่อใช้ร้องสำหรับบ่งบอกความเป็นรัฐนิยม แต่มีความขัดแย้ง ในทฤษฎีประวัติศาสตร์วัฒนธรรม (สมศักดิ์ ศรีสันติสุข, 2552: 124) ที่ว่า “วัฒนธรรมมนุษย์ที่คล้ายคลึงกัน เกิดจากการประดิษฐ์คิดค้นอย่างอิสระ มากกว่าการเกิดจากการแพร่กระจายวัฒนธรรม” กล่าวคือ ในความต้องการบทเพลงชาติไทยนั้นคณะราษฎร์มีความต้องการให้ประเทศขับเคลื่อนไปด้วยความรักสามัคคีเป็นกุศโลบายเชิงจิตวิทยาเพื่อสร้างจิตสำนึกให้คนในชาติมีความเป็นชาตินิยมดังประเทศมหาอำนาจ และด้วยการเลียนแบบประเทศมหาอำนาจสร้างแนวทางรัฐนิยมก่อเกิดการเลียนแบบเพลงชาติฝรั่งเศสทางจังหวะอารมณ์ที่คึกคักปลุกใจนี่เองจึงเป็นเหตุผลสนับสนุนในแนวคิดนี้ ข้อเสนอแนะ 1. ควรมีการศึกษาต่อในพัฒนาการด้านการศึกษาเพื่อประโยชน์ทางวิชาการ 2. ควรแยกแนวทางการศึกษาเป็นหลายส่วนในด้านต่างๆ ในมิติที่ลึกกว่างานวิจัยนี้ บรรณานุกรม กองบัญชาการทหารสูงสุด. 2525. ประวัติศาสตร์กองทัพไทยในรอบ 200 ปี. กรุงเทพฯ: กองประวัติศาสตร์และพิพิธภัณฑ์ทหาร กรมการศึกษาวิจัย กองบัญชาการทหารสูงสุด. กองดุริยางค์ทหารอากาศ. 2539. หนังสือที่ระลึกการก่อตั้งกองดุริยางค์ทหารอากาศครบรอบ 55 ปี. กรุงเทพฯ: ม.ป.ท. โกวิทย์ ขันธศิริ. 2550. ดุริยางค์ศิลป์ตะวันตกเบื้องต้น. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. ณัชชา โสคติยานุรักษ์. 2544. สังคีตลักษณ์และการวิเคราะห์. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย. สมศักดิ์ ศรีสันติสุข. 2552. การศึกษาสังคมและวัฒนธรรม แนวความคิด วิธีวิทยา และทฤษฎี. ขอนแก่น: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยขอนแก่น สุกรี เจริญสุข. 2531. “เพลงชาติ” ถนนดนตรี.5 (มีนาคม): หน้า 56 – 68. พูนพิศ อมาตยกุล และ ณัฐชยา นัจจนาวากุล. 2559. แตรสยาม. กรุงเทพฯ: สายโรงพิมพ์ บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่งจำกัด (มหาชน). อนรรฆ จรัณยานนท์. 2537. เค้าน์เตอร์พ้อยท์. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์. สัมภาษณ์ รองศาสตราจารย์ ดร.เฉลิมศักดิ์ พิกุลศรี. อัศวิน นาดี. 16 มีนาคม 2560. ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ พูนพิศ อมาตยกุล. อัศวิน นาดี. 5 ตุลาคม 2558. นาวาอากาศเอก ชฏิล บุตรศรี. อัศวิน นาดี. 27 พฤศจิกายน 2558. เรืออากาศเอก วิศิษฎ์ ภวปัญญากุล. อัศวิน นาดี. 8 เมษายน 2560. พันตำรวจโท ดร.ทีฆา โพธิเวส. อัศวิน นาดี. 2 กันยายน 2558. นาวาอากาศโท สุกฤษฏิ์ อัญบุตร. อัศวิน นาดี 28 มิถุนายน 2560 เรืออากาศเอก บรรจง แก้วคำ. อัศวิน นาดี 28 มิถุนายน 2560  
     คำสำคัญ กองดุริยางค์ทหารอากาศ, ประวัติศาสตร์ดนตรี, เพลงชาติ  
ผู้เขียน
567220007-0 นาย อัศวิน นาดี [ผู้เขียนหลัก]
คณะศิลปกรรมศาสตร์ ปริญญาเอก ภาคปกติ

การประเมินบทความ มีผู้ประเมินอิสระ 
สถานภาพการเผยแพร่ ได้รับการตอบรับให้ตีพิมพ์ 
วารสารมีการเผยแพร่ในระดับ ชาติ 
citation มี 
เป็นส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ เป็น 
แนบไฟล์
Citation 0