2012 ©
             ข้อมูลการเผยแพร่ผลงาน
การเผยแพร่ในรูปของบทความวารสารทางวิชาการ
ชื่อบทความที่เผยแพร่ การสกัดน้ำยางจากเมล็ดมะขามเพื่อการสร้างลวดลายบนผ้าฝ้าย 
วัน/เดือน/ปี ที่เผยแพร่ 15 มิถุนายน 2560 
การประชุม
     ชื่อการประชุม โฮมภูมิ ครั้งที่ 3 ภูมิปัญญาสู่อนาคต: Wisdom for the Future 
     หน่วยงาน/องค์กรที่จัดประชุม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 
     สถานที่จัดประชุม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 
     จังหวัด/รัฐ ขอนแก่น 
     ช่วงวันที่จัดประชุม 11 กุมภาพันธ์ 2563 
     ถึง 11 กุมภาพันธ์ 2563 
Proceeding Paper
     Volume (ปีที่)
     Issue (เล่มที่)
     หน้าที่พิมพ์ 38 
     Editors/edition/publisher  
     บทคัดย่อ การสร้างลวดลายเป็นการสร้างมูลค่าให้กับผืนผ้าโดยใช้เทคนิคที่แตกต่างกันออกไป ตั้งแต่วิธีการสร้างเทคนิคจากฝีมือ เช่น การขิด จก มัดหมี่ ย้อมสีธรรมชาติ เขียนเทียน บาติก ปัก หรือวิธีการทางอุตสาหกรรม เช่น ฟอก ย้อม สกรีน พิมพ์ วิธีการตกแต่งสำเร็จ พืชที่นำเส้นใยมาใช้ในการถักทอเป็นผืนผ้า ที่ได้รับความนิยมได้แก่ ฝ้าย เพราะคุณสมบัติของฝ้ายดูดความชื้นได้ง่าย ระบายความร้อนได้ดี ฝ้ายถือเป็นพืชเศรษฐกิจในจังหวัดเลย เกษตรกรในจังหวัดเลยนิยมปลูกฝ้ายเนื่องจากสภาพภูมิประเทศเอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก จึงสามารถสร้างรายได้เป็นอันดับหนึ่งในจังหวัดเลย นอกจากอาชีพเกษตรกรแล้ว กลุ่มทอผ้าจัดอยู่ในกลุ่มที่เป็นอาชีพดั้งเดิมของประชาชนในพื้นที่ เนื่องจากสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศในจังหวัดเลย ซึ่งมีศักยภาพในการปลูกต้นฝ้าย ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตผ้าฝ้าย ความสำคัญของฝ้ายที่มีต่อประชากรในพื้นที่ในเชิงอัตลักษณ์และวัฒนธรรม ได้สะท้อนให้เห็นชัดเจนในงานประจำปีของจังหวัด คือ งานดอกฝ้ายบาน ซึ่งจัดต่อเนื่องมาทุกปีในช่วงของเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นช่วงที่มีการเก็บเกี่ยวฝ้าย ในปี พ.ศ. 2524-2525 อาชีพการทอผ้าพื้นเมืองของกลุ่มทอผ้าในจังหวัดเลย ได้ยึดถือเป็นอาชีพมาโดยตลอด ปัจจุบันเป็นสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ที่เป็นที่ยอมรับของบรรดานักท่องเที่ยวที่มาจังหวัดเลย และนิยมซื้อไปใช้และเป็นของฝาก แม้ว่าจังหวัดเลยจะมีศักยภาพในการปลูกฝ้าย จากข้อมูลจากกรมวิชาการเกษตรพบว่าพื้นที่การปลูกฝ้ายลดลงอย่างน่าเป็นห่วง ในปี พ.ศ. 2543 เหลือเพียง 4,681 ไร่ การลดพื้นที่ปลูกฝ้ายเนื่องจากไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน ยาปราบศัตรูพืชมีราคาแพง ราคาฝ้ายตกต่ำ ต่อมาในปี พ.ศ. 2545 องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล สำนักงานในประเทศไทยได้ดำเนินโครงการพัฒนาชุมชนเพื่ออนุรักษ์ป่าภูหลวง ด้วยการทดลองปลูกฝ้ายปลอดสารพิษ ที่ อำเภอวังสะพุง จากการดำเนินงานพบว่า จังหวัดเลยนั้นมีศักยภาพมากในการปลูกฝ้ายปลอดสารพิษ ซึ่งควรได้รับการเผยแพร่ เนื่องจากความต้องการเส้นฝ้ายปลอดสารพิษมีสูงโดยเฉพาะตลาดต่างประเทศ(สำนักงานวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย,2550) จากราคาฝ้ายที่ตกต่ำ เกษตรกรบางส่วนได้หันมาปลูกมะขามหวาน ซึ่งมะขามหวานได้เข้ามามีบทบาทในทางเศรษฐกิจแทนฝ้าย ในอดีตจังหวัดเลยเป็นแหล่งปลูกมะขามหวานที่มากที่สุดในประเทศไทย แต่สถานการณ์ในปัจจุบันเกษตรกรลดพื้นที่ปลูกมะขามหวานลงไปมากเนื่องจากราคาตกต่ำ แต่ถึงอย่างไรจังหวัดเลยยังถือว่าเป็นจังหวัดอันดับต้นๆที่มีการปลูกและส่งออกมะขามหวาน(รายงานสำนักงานเกษตรกรจังหวัดเลย,2551) นอกจากนั้นยังมีการแปรรูปมะขาม เพื่อเพิ่มมูลค่า และสร้างรายได้ให้กับชุมชน คือการแปรรูปเป็นมะขามแช่อิ่ม มะขามสามรส มะขามกวน การแปรรูปมะขามนั้นจะต้องเอาเมล็ดมะขามออกก่อน จากการสัมภาษณ์จากผู้ผลิตพบว่า มะขามที่ไม่มีเมล็ดจะได้ราคาดีกว่ามะขามที่ยังมีเมล็ดอยู่ ส่วนเมล็ดมะขามที่แกะออกนั้น ก็นำไปทิ้ง ไม่ได้นำไปทำประโยชน์อะไร หากนำไปขายก็ได้เพียงกิโลกรัมละ 5 บาท และในแต่ละเดือนจะมีเมล็ดมะขามเหลือทิ้งเป็นจำนวนมาก(นางรัตนา พันสนิท สมาชิกกลุ่มแปรรูปมะขาม บ้านนาแปน อำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย,2559) จังหวัดเลยมีพื้นที่โดยรวมที่มีลักษณะเด่น สภาพพื้นที่ค่อนไปทางภาคเหนือ มีสภาพภูมิประเทศที่หลากหลายทำให้มีแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงาม ประกอบด้วยแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ จำนวน 90 แห่ง แหล่งท่องเที่ยวโบราณสถานจำนวน 28 แห่ง แหล่งท่องเที่ยวประเพณี วัฒนธรรม จำนวน 38 แห่ง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กำหนดให้จังหวัดเลยเป็น 1 ใน 9 เมืองที่มีศักยภาพแห่งการท่องเที่ยว(ข้อมูลเศรษฐกิจสังคมจังหวัดเลย,2552) จากข้อมูลดังกล่าวจังหวัดเลยมีสถานที่ท่องเที่ยวมากมายทำให้มีนักท่องเที่ยวถึง 1,512,855 คน ทำรายได้เข้าจังหวัดถึง 2,469.23 ล้านบาทต่อปี (สำนักงานสถิติจังหวัดเลย,2556) นอกจากสถานที่ท่องเที่ยวจังหวัดเลยยังมีงานประจำปีคือ “งานกาชาดดอกฝ้ายบาน มะขามหวานเมืองเลย” จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมการปลูกฝ้ายและมะขามซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจของจังหวัดเลย รวมทั้งส่งเสริมขนบธรรมเนียมประเพณีของท้องถิ่น และเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดเลย ปัจจุบันจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1–9 กุมภาพันธ์ของทุกปี ณ สนามหน้าศาลากลางจังหวัดเลย ซึ่งภายในงานจะมีการจัดแสดงสินค้าหัตถกรรม 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์ของจังหวัดเลยด้วย เนื่องจากจังหวัดเลยเป็นจังหวัดที่มีสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติอยู่มากทำให้นักท่องเที่ยวส่วนมากเลือกที่จะมาท่องเที่ยวในจังหวัดเลย การท่องเที่ยวสามารถทำรายได้เข้าจังหวัดได้เป็นอย่างมาก นอกจากนั้นยังมีการสร้างรายได้ให้กับชุมชนคือ ผลิตภัณฑ์ของที่ระลึก สำหรับของที่ระลึกในปัจจุบันของจังหวัดเลยนั้นส่วนมากเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากฝีมือคนในชุมชนแต่ยังมิได้นำวัสดุพื้นเมืองที่ทรงคุณภาพและทรงคุณค่ามาใช้ในการประกอบและผลิตงานของที่ระลึกให้เกิดคุณภาพได้อย่างเต็มศักยภาพ ส่วนใหญ่จะเป็นการใช้วัสดุท้องถิ่นบางส่วนควบคู่กับวัสดุสังเคราะห์จากโรงงานอุตสาหกรรม เช่น ไหมพรม อีกทั้งรูปแบบของผลิตภัณฑ์ยังไม่หลากหลายทำให้เกิดทางเลือกในการซื้อค่อนข้างน้อย หรือการเลือกใช้วัสดุและการออกแบบผลิตภัณฑ์นั้นๆยังไม่แปลกใหม่ สวยงาม พอที่จะซื้อเป็นของที่ระลึกหรือของฝาก ซึ่งในปัจจุบันได้มีสินค้าจากโรงงานเข้ามาเป็นคู่แข่งทางการตลาด ทำให้นักท่องเที่ยวเลือกซื้อเพราะราคาถูก ทำให้ของที่ระลึกที่มีอยู่เดิมนั้นราคาถูกลงไปอีก ซึ่งทำให้สถานที่จำหน่ายสินค้าของที่ระลึกนำผลิตภัณฑ์จากโรงงานเข้ามาวางขายมากขึ้น ของที่ระลึกที่เป็นสินค้าจากชุมชนจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านวัสดุหรือฝีมือคนในชุมชน จึงลดน้อยลงเรื่อยๆ ทำให้แนวโน้มในอนาคตอาจจะเลือนหายไปจากจังหวัดเลย จากข้อมูลดังกล่าว ทำให้ผู้วิจัยต้องการที่จะศึกษาการสร้างลวดลายบนผืนผ้าจากเศษวัสดุที่เหลือจากกระบวนการแปรรูปมะขาม นั่นก็คือเมล็ดมะขาม จากการค้นคว้าพบว่าเนื้อในเมล็ดมะขามเป็นแหล่งที่ให้แป้งที่มีคุณภาพ ในประเทศอินเดียนำมาใช้ทำกาวซึ่งมีคุณภาพสูงแทนการใช้แป้งข้าวจ้าว ทำให้สามารถลดปริมาณการใช้แป้งข้าวจ้าวและแป้งสาคูที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมกระดาษ เครื่องทอและทำกระสอบป่าน หากนำมาผสมกับสารบอแรกซ์สามารถนำมาใช้แทนกาวได้เพราะมีความเหนียวดีมาก แป้งชนิดนี้ยังใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมทำผ้าดอก เพื่อใช้พิมพ์ลวดลายลงบนแผ่นยางอีกด้วย(การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากฝ้ายย้อมสีจากมะขามหวาน,2555) ส่วนในประเทศไทยนับเป็นภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ ภาพจิตรกรรมไทยฝาผนังมีการนำเมล็ดมะขามกับดินสอพองลงพื้นก่อน บ่งบอกถึงภูมิปัญญาของช่างโบราณที่รู้จักและค้นคว้าทดลองนำคุณสมบัติพิเศษของสารในตัวเมล็ดมะขามและดินสอพองมาสงวนความคงทนให้กับลายเส้นสีของงานจิตรกรรม และคุณสมบัติเหล่านี้ช่วยรักษาลวดลายอันวิจิตรให้ติดอยู่กับวัสดุฐานวาดผนังปูนและไม้ได้อย่างยาวนาน ซึ่งคุณสมบัติเด่นของเมล็ดมะขามนี้ยังไม่มีการใช้งานในพื้นที่จังหวัดเลย โดยเฉพาะในงานหัตถกรรมการทำลวดลายผ้าที่มีความเหมาะสมกับอัตลักษณ์ท้องถิ่น ดังนั้นการศึกษาการใช้เทคนิคการสร้างลวดลายบนผืนผ้าฝ้ายจากเมล็ดมะขาม ที่ได้จากการทดลองเบื้องต้น เช่น วิธีการสกัดเมล็ดมะขาม ระยะเวลาการสกัดเมล็ดมะขามที่เหมาะสมต่อการกั้นสี การวาดลวดลายลงบนผืนผ้า การสกรีน และใช้สีจากธรรมชาติ ด้วยเทคนิควิธีการเลือกพืชให้สี การสกัดสีที่ไม่ทำลายธรรมชาติ การเลือกใช้สารติดสีจากธรรมชาติ การลงสีบนผืนผ้าที่เหมาะสมกับเทคนิคการใช้เมล็ดมะขาม จากภูมิปัญญาและจากการทดลอง เป็นการใช้เทคนิคการสร้างลวดลายบนผืนผ้าด้วยวัสดุที่เน้นความสอดคล้องกับท้องถิ่น รวมไปถึงกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ที่จะเป็นงานฝีมือทั้งหมด เป็นการสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มให้กับวัสดุดังกล่าว รวมไปถึงการออกแบบผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสอดคล้องกับจังหวัดเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของนักท่องเที่ยวและผู้บริโภคในจังหวัดเลยให้มากขึ้น บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัย การพัฒนาเทคนิคการสร้างลวดลายของผ้าฝ้ายจากเมล็ดมะขาม เพื่อออกแบบผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกจังหวัดเลย  
ผู้เขียน
585200029-0 น.ส. พิรุฬห์พร ศรีเมือง [ผู้เขียนหลัก]
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ปริญญาโท โครงการพิเศษ

การประเมินบทความ (Peer Review) มีผู้ประเมินอิสระ 
มีการเผยแพร่ในระดับ ชาติ 
รูปแบบ Proceeding Full paper 
รูปแบบการนำเสนอ Oral 
เป็นส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ เป็น 
ผลงานที่นำเสนอได้รับรางวัล ไม่ได้รับรางวัล 
แนบไฟล์
Citation 0